การศึกษา : ไทย “เหลื่อมล้ำ”
การศึกษา : ไทย “เหลื่อมล้ำ”
ประเทศไทยถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกจากองค์กร CS Global Wealth Report 2018 โดยประเทศไทยมีกลุ่มคนยากจนสูงสุดร้อยละ 40 ของประเทศ และมีทรัพย์สินรวมกันเพียงร้อยละ 1.9 จากทั้งหมด ซึ่งต่างจากกลุ่มคนรวยที่มีกันเพียงร้อยละ 1 ของประเทศ แต่กลับถือครองทรัพย์สินมากมายกว่าร้อยละ 58 ของประเทศ
ช่องว่างของจำนวนเงินเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบระยะยาวไปสู่ความเหลื่อมล้ำในด้านอื่น ๆ อีกมากมายหนึ่งในนั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ปัจจุบันเห็นได้ชัดในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการที่โรงเรียนมีสังกัด เป็นของตัวเอง มีเงินสนับสนุนนอกเหนือจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้มีงบประมาณส่งเสริมทางการศึกษาได้ดีกว่าโรงเรียนที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ส่งผลให้การเข้าถึงทรัพยากรของเด็กในโรงเรียนชนบทไม่ได้รับอุปกรณ์ทางการศึกษา แหล่งความรู้ทางการศึกษา รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
——————————————————————————————————————–
เหมือนกันไยแตกต่าง
สภาพความเป็นอยู่ของโรงเรียนชนบทนั้น ทำให้เห็นได้ชัดถึงการจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าขาดความเอาใจใส่ มากน้อยแค่ไหน เมื่อมองจากถนนหลักไปยังไปโรงเรียนก็จะพบว่าการเข้าถึงสถานศึกษาในชนบทเป็นสิ่งที่ยากลำบาก รวมถึงระบบการศึกษาที่ไม่เป็นระบบ อาจารย์ที่ประจำอยู่ 1 ท่าน อาจจะต้องสอน 2-3 วิชา เนื่องจากไม่มีอาจารย์ท่านไหนอยากทำงานอยู่ห่างไกลความเจริญ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นไม่ได้มีความเกินจริงแต่อย่างใด เพราะสภาพความเป็นอยู่ เป็นเรื่องที่มนุษย์ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ทำให้อาจารย์ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองมีมากตามจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม นักเรียนที่เข้ารับการศึกษาก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีตามมา เพราะเจอแต่ความเป็นอยู่ที่สะอาด และง่ายต่อการเข้าถึงการศึกษา
รวมไปถึงแผนการเรียนที่วางไว้ก็จะแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในตัวเมืองกับโรงเรียนชนบท คุณ อัษ แสนภักดี อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า
“โรงเรียนในตัวเมืองกับโรงเรียนในชนบท มีการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน”
โดยอันดับแรกคือการสนับสนุนจากครอบครัว ว่าด้วยสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงทักษะต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ อาทิ ทักษะในการสงสัยใคร่รู้
“Why do you think that happened?”
แต่เมื่อเทียบกับเด็กในตัวเมือง สภาพแวดล้อมสอนให้ตั้งคำถามตั้งแต่เด็ก ว่าสิ่งนี้ทำไมถึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร อีกทั้งยังมีครอบครอบครัวที่มีปัจจัยพร้อมสนับสนุนทางการศึกษา และมีสภาพความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการศึกษา อันดับต่อมาคือ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนั้น ๆ เช่น โรงเรียนที่อยู่ในสังกัด อบจ. ก็จะมีงบประมาณคอยสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในสังกัด คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางคณะศึกษาศาสตร์ และ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นงบประมาณสนับสนุนทางการศึกษาเห็นได้ชัดว่าจะแตกต่างกับโรงเรียนในชนบท ที่จะได้รับเพียงแค่การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงจำนวนเงินที่ไม่มากพอจะสร้างแหล่งความรู้ใหม่
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรจัดการงบประมาณให้เหมาะสมกันกับแหล่งการเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้สอดคล้องกับเงินสนับสนุนที่ได้รับ เพราะเมื่อแจกจ่ายงบประมาณตามจำนวนนักเรียน โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยอาจได้งบประมาณทางการศึกษาไม่มากพอที่จะสร้างแหล่งความรู้ใหม่ให้กับนักเรียน และ อาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไม่มีวันจบสิ้น
——————————————————————————————————————–
ฉันไม่เข้าถึงการศึกษาหรือการศึกษาเข้าไม่ถึงฉัน
“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, 2560)
ถือเป็นหนึ่งรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่ครอบครัวไม่มีกำลังจ่ายเงินค่าเทอม
ถึงแม้ทางภาครัฐจะออกกฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลาสิบสองปีก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีคำว่าความเหลื่อมล้ำได้อยู่ดี เพราะทางโรงเรียนก็จะยังมีเรียกเก็บค่าบำรุงรักษาสถานศึกษา ซึ่งจะส่งผลและเป็นภาระไปยังครอบครัวที่ยากจนอย่างแน่นอน อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือเรียน ค่าใช้จ่ายประจำวันของบุตรหลาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายภายในทั้งครอบครัว ทำให้บางครอบครัวที่มีเงินน้อยไม่มีกำลังทรัพย์ส่งบุตรหลานไปเรียน และอาจทำให้นักเรียนบางคนสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปโดยใช่เหตุ
ปัญหาความยากจนเหล่านี้มักพบได้ง่ายภายในชนบท เพราะยากต่อการช่วยเหลือ และ ให้ความรู้ในการศึกษาว่าสำคัญเพียงใด ไม่ว่าจะอายุไหนก็ตาม โรงเรียนชนบทบางพื้นที่มีการเรียกเก็บค่าบำรุงสถานที่ ทำให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน เพราะยังจะต้องต้องเป็นจ่ายเงินที่มีอยู่น้อยนิดให้กับคนในครอบครัว ก็ยังต้องมาแบ่งเงินบางส่วนให้กับโรงเรียน ที่ไม่มีการพัฒนาสภาพแวดล้อม และ การศึกษาของนักเรียนให้ดีกว่าเดิม
ต่างจากโรงเรียนในตัวเมืองที่มีการจ่ายค่าบำรุงสถานศึกษา ที่มีการจ้างพนักงานทำความสะอาดมาดูแลรักษาโรงเรียน มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น แอร์ คอมพิวเตอร์ และ ส่วนต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้ค่าบำรุงสถานศึกษานั้นมากตามไปด้วย แต่ก็แลกมาด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษา และ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพจากทางโรงเรียนที่ได้วางแผนการสอนไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงเนื้อหา และ นำไปปรับใช้ในอนาคต
——————————————————————————————————————–
ร่ำเรียนวิชามา ใช้ชีวิตได้ไหม?
“นับตั้งแต่อดีต สมัยสุโขทัยไปจนถึงสมัยรัตนโกสินตอนต้น ผู้ชายจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ตำราการต่อสู้ การใช้อาวุธต่าง ๆ และ การศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์ โหราศาสตร์ ในส่วนผู้หญิงจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการทำงานบ้านและการวางตัวให้เหมาะสม ซึ่งการศึกษาในอดีตนั้นสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง”
ในปัจจุบันมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาว่า
“การศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทางโรงเรียนเลือกที่จะสอนแต่ภาคทฤษฎี มากกว่าการสอนภาคปฏิบัติ และอยากให้มีวิชาที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องของภาษี เมื่อโตไปเราจะต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านี้”
นักเรียนกลุ่มนี้จึงอยากศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อนำไปเข้าศึกษาต่อที่อื่นเพียงอย่างเดียว ทั้งหมดนี้เป็นคำพูดของนักเรียนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งแตกต่างจาก น้องไหม สาวกระเหรี่ยงนักเรียนบ้านแม่ป่าไผ่ อำเภอฮอดในจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การศึกษาที่ได้เรียนรู้นั้นเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้ น้องไหม เป็นหนึ่งในนักเรียนแกนนำที่ผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เช่น การจัดแข่งขันการแยกขยะพลาสติก เพื่อรับของรางวัล เป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในหมู่บ้าน
“หนูได้เรียนมาว่าการแยกขยะมันช่วยในหลาย ๆ ส่วนได้ มันช่วยโลกได้ ก็เลยไปของบทางโบสถ์ในการจัดกิจกรรมขึ้นมา และก็พยายามชวนคนให้เข้ามาเข้าร่วมเรื่อย ๆ ค่ะ”
น้องไหม มองว่าหมู่บ้านแม่ป่าไผ่เป็นชุมชนเล็ก ๆ ทำให้ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาให้กับชาวบ้าน “หนูว่า หมู่บ้านหนูมันติดต่อกันได้ง่ายค่ะ คนในหมู่บ้านก็ไม่ได้เยอะอะไร” การที่เธอได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ได้จริงถือว่าเป็นการบรรลุผลสำเร็จของการศึกษาแล้ว ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนว่าจะนำความรู้ไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไร
แต่หากมองจำนวนนักเรียนชนบทในส่วนมาก ถึงแม้จะมีความพยายามมากแค่ไหน ก็มักจะมีข้อจำกัดบางอย่างเข้ามาฉุดรั้งไว้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลความเจริญทำให้ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ กำลังทรัพย์ที่มีไม่มากพอที่จะจ่ายค่าเทอม เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยเกินไป ความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละพื้นที่ ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือปัญหาความเหลื่อล้ำ ที่เด็กชนบทหลายคนได้ประสบพบเจอกับตัวเอง จนบางครั้งทำให้ใครหลาย ๆ คนหมดไฟที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง
ต่างจากเด็กในตัวเมืองที่สามารถเลือกความฝันของตัวเองได้ มีครอบครัวคอยสนับสนุนการศึกษา ไม่มีขีดจำกัดในการเรียนรู้ และที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้เราเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างเด็กนักเรียนในชนบทกับเด็กนักเรียนในตัวเมือง
ดังนั้น การศึกษาที่เข้าถึงง่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในปัจจุบัน การเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของทางหน่วยงานภาครัฐควรดำเนินการได้ง่าย และ ทั่วถึงกับเด็กนักเรียนทุกพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กชนท เพิ่มประชากรที่มีความรู้ให้กับประเทศ ลดปัญหาความเหลื่อล้ำ เพียงเท่านี้ประเทศไทยก็ได้ก้าวไปอีกขั้นของคำว่า ความสำเร็จ
แหล่งอ้างอิงบทความ
ดำรงตุ้มทอง. (2548). ปัญหาเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา สถานการณ์ความไม่เสมอภาคในสังคมไทย(1). วารสารวิชาการคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์. จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
อุเทน ปัญโญ อนุรักษ์ ปัญญาวัฒน์ และต่าย เซี่ยงฉี. (2543). ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของสังคมชนบทในภาคเหนือตอนบน(1). จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.
กฤตพร โทจันทร์. (2564). การศึกษาโลกสะท้อนไทย ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่หายไป. สืบค้น 2 สิงหาคม 2565 จาก https://www.eef.or.th/global-and-thai-education/
Reformvoice. (2564). การปฏิรูปการศึกษาไทย อดีต ปัจจุบัน อนาคต. สืบค้น 2 สิงหาคม 2565, จาก https://reformvoice.com/2020/12/30/การปฏิรูปการศึกษาไทยอด/
Karin Hurt and David Dye. (2021). Developing Leadership Skills in Children: 11 Ways to Grow Your Kids. Retrieved July 2022, from https://letsgrowleaders.com/2018/03/15/leadership-skills-in-children/
แหล่งข้อมูลบุคคล
ดร.อัษ แสนภักดี อาจารย์โรงเรียสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้เขียน : นรบดี แสนอินทร์ , ชลธิญา จิตตาคำ