การรวมตัวของแรงงานหญิง: ประวัติศาสตร์ ความท้าทาย และความสำเร็จ

การจะเริ่มต้นต่อสู้กับอำนาจเหนือที่กำลังกดขี่พวกเราอยู่คงไม่พ้นการรวมตัวเพื่อเรียกร้อง จำนวนคนที่มากมักจะสามารถนำมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ในสภาวะที่เป็นรองในสังคมของเพศกำเนิดหญิง รวมถึงเพศกำเนิดหญิงที่เป็นแรงงาน ซ้ำร้ายในประเทศโลกที่สามมีแรงงานเพศกำเนิดหญิงที่ข้ามชาติมา คงเป็นสภาวะที่ฝั่งประเทศโลกที่หนึ่งอาจจะจินตนาการไม่ออกว่าต้องประสบกับปัญหาอะไรบ้าง

การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานหญิงของสากล

‘สาวทอผ้า’

‘การท้าทาย’

‘ทุนนิยม’

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2400 บริเวณรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เกิดการรวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องนายจ้างที่กระทำการเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีด และใช้แรงงานอย่างหนักหนาโดยไร้ความคุ้มค่ากับค่าแรงที่ได้รับ นอกจากนี้ยังมีเวลาพักผ่อนที่น้อยลง เพราะนายจ้างต้องการผลผลิตที่มากพอเพื่อสร้างมูลค่าของเม็ดเงินที่มากขึ้นให้ตนเอง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของเหล่าแรงงานย่ำแย่ลง

การประท้วงในครั้งนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าโศกอย่างมาก เพราะชีวิตของเหล่าแรงงานถูกคร่าไปกว่า 100 ชีวิต ด้วยเหตุเพราะมีคนไม่พอใจกับการประท้วงในครั้งนี้ ได้กระทำการลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอประชุมอยู่ ซึ่งเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2400

อีก 50 ปีต่อจากนั้น สาวทอผ้าที่รัฐชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลุกฮืออีกครั้งด้วยเหตุผลเดิม พวกเธอกล่าวว่า “นี่ไม่ต่างอะไรกับการเป็นทาสผิวดำให้กับพวกผิวขาว” เพราะพวกเธอต้องทำงานถึง 17 ชั่วโมง เรื่องของวันหยุดไม่ต้องนึกถึงว่าจะมี สถานการณ์เหล่านี้ทำให้พวกเขาเกิดความเจ็บป่วย ล้มตาย และถ้าตั้งครรภ์จะถูกไล่ออกจากงาน ส่วนเรื่องค่าแรงที่ได้ก็น้อยเกินกว่าที่จะมองเห็นความคุ้มค่า

ภาพ คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin)

ที่มา: https://www.salika.co/2019/03/08/clara-zetkin-womens-rights-activist/

การกดขี่ที่เกิดขึ้น ทำให้คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) นักการเมือง นักกิจกรรม และเธอยังเป็นนักสตรีนิยมสายสังคมนิยม ชาวเยอรมัน เธอออกมาปลุกระดมให้เหล่าแรงงานสตรีหยุดงานประท้วงในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2450 เพื่อเรียกร้องต่อนายจ้าง และนอกจากนั้นเธอได้เสนออีก 1 ข้อเรียกร้องสำคัญว่า “ผู้หญิงต้องมีสิทธิในการเลือกตั้ง” ถึงแม้การประท้วงอาจจะไม่สำเร็จจนเห็นได้เป็นรูปธรรม แต่คลื่นของความตระหนักรู้ที่คลาร่า เซทคิน สร้างขึ้นส่งผลให้แรงงานสตรีได้รับรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น จนนำมาซึ่งการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องในอีกหลาย ๆ ครั้ง

จนในที่สุดอีก 2 ปีต่อมา นี่อาจจะนับว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เมื่อตัวแทนจากสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  โดยที่ประชุมได้รับรองข้อเรียกร้องของบรรดาแรงงานสตรีคือ

‘ลดเวลาทำงานเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเวลาให้สตรีศึกษาเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตามความสนใจของตัวเอง 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง  ปรับสวัสดิการให้เท่าเทียมแรงงานชาย และคุ้มครองสวัสดิการของแรงงานหญิงและแรงงานเด็ก ในที่สุดก็มาถึงข้อรับรองสำคัญข้อสุดท้าย คือ การรับรองให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2453’ (แอมนาสตี้, 2564)

แรงงานสตรีไทย และสภาวะตื่นรู้

การตื่นรู้เรื่องสตรีนิยมของสตรีไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีการตื่นรู้ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปี พ.ศ. 2417  ซึ่งเป็นการเรียกร้องถึงสิทธิสตรีผ่านสิ่งพิมพ์ในยุคนั้น เช่น หนังสือ “กุลสตรี” โดยมีข้อเรียกร้องในประเด็นด้านการศึกษา การทำงานในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องคล้ายกับขบวนการเคลื่อนไหวลูกแรกของสตรีนิยมในฝั่งตะวันตก ในข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นก็นับได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนในระดับสตรีชนชั้นสูง

นอกจากการตื่นรู้ในระดับชนชั้นสูง หนึ่งในบทความของประชาไทยเคยเขียนบทความเมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษ “ร้อยปีสตรีสากล ร้อยเรียงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานหญิงในประเทศไทย” โดยการพูดคุยกับผู้หญิงในขบวนการแรงงานและขบวนการชาวบ้าน ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่ว่าในประเทศไทยนั้นขบวนการสตรีนิยมไม่ได้ผูกติดกับเพียงแค่ในระดับชนชั้นสูง แต่สตรีทุกคนก็ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมที่ควรเกิดขึ้น และมีอยู่

หนึ่งในคนที่อยู่ในบทสัมภาษณ์พิเศษครั้งนั้นคือ คุณจันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง) เล่าว่าเธอให้ความสำคัญกับวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสตรีสากลอย่างมาก เพราะเป็นการต่อสู้ของแรงงานหญิงที่เรียกร้องระบบสาม 8 มาได้ (ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง)

“เราไปร่วมทุกปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าไปเป็นขณะทำงานเพราะว่ามันเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล เราคิดว่าเราเป็นแรงงานกลุ่มหนึ่ง คือแรงงานภาคบริการเราก็เข้าไปร่วม นอกจากนี้พี่ก็เห็นว่ากลุ่มผู้หญิงที่เขาไปรวมกลุ่ม ไม่ใช่มีแต่กลุ่มแรงงาน มีกลุ่มศิลปินด้วย มีกลุ่มที่มาจากสิ่งแวดล้อมอะไรด้วย เพราะฉะนั้นมันเป็นการรวมพลังที่เยอะที่สุด การรวมพลังอันนี้เราจะต้องเห็นความแตกต่าง เราจะต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่าง ไม่ต้องมาทำเหมือนกัน คุณไม่ต้องมาทำเหมือนกลุ่มแรงงาน มาทำเหมือนกับกลุ่ม แต่ความแตกต่างมันทำให้เกิดการพูดคุย เกิดการลับสมอง เกิดการขับเคลื่อนในมุมมองที่มันแตกต่างกัน พี่คิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ” (ประชาไทย, 2554)

การเดินขบวนวันสตรีสากลในไทยก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานชั้นดีที่สามารถบอกได้ว่าภาคประชาชนในประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญของสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง บางสิทธิอาจจะประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายข้อเรียกร้องที่ยังคงต้องดำเนินการต่ออย่างเต็มกำลัง อย่างปีล่าสุด พ.ศ. 2567 ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 11 ข้อ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ต่อต้านทุนนิยมเสรีกดขี่แรงงานหญิง”

ภาพ การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงานสตรี เนื่องในวันสตรีสากลวันที่ 8 มีนาคม 2567

ที่มา: https://workpointtoday.com/international-womens-day-2/

การรวมตัวของผู้คนที่มีความทับซ้อนมากกว่าการเป็นแรงงานสตรี

ในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนมากกว่าการเป็นแรงงานหญิง แต่เป็นแรงงานหญิงข้ามชาติ แรงงานหญิงข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่โลกที่สาม และบางคนอาจจะยังมีความทับซ้อนของอัตลักษณ์ไปมากกว่านี้อีก พวกเขาประสบปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาการถูกกดขี่จากนายจ้าง นายจ้างจ่ายค่าแรงต่ำกว่าแรงงานไทย การถูกล่วงละเมิดจากนายจ้าง การมีบัตรประจำตัว และอีกมากมายที่อาจจะคาดไม่ถึงเลยก็ได้ เราอยู่ในรัฐที่ไม่เคยรักใคร แน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ ของแรงงานไม่เคยถูกแก้ไข หรือถูกให้ความช่วยเหลือจากรัฐ ซ้ำร้ายก็เป็นรัฐเองที่รังแกแรงงานทั้งทางตรง และทางอ้อม สภาวะนี้เลยบีบบังคับให้เกิดการรวมตัวเพื่อต่อสู้ความอยุติธรรมตรงนี้ขึ้นมา

“จริง ๆ แล้วทุกครั้งหลังจากทำเสร็จ เรานับเป็นความสำเร็จที่มีคนได้รับการช่วยเหลือ”

คำพูดจากคุณนิภาพร จิตมานนท์ หนึ่งในตัวแทนของกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กญธ.)

ภาพ คุณนิภาพร จิตมานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กญธ.)

ภาพโดย อิทธิกร ชัยศรี

กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กญธ.) เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแรงงานหญิง แรงงานหญิงข้ามชาติ กลุ่มนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งประกอบด้วยผู้หญิงทำงานจากหลากหลายอาชีพ และมีแกนนำทำงานในนามตัวแทนของกลุ่มที่มาจากการรวมตัวของกลุ่มคนทำงานหญิงในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมไปถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรที่ทำงานประเด็นเดียวกัน เช่น สิทธิผู้หญิง ความรุนแรงต่อผู้หญิง การใช้แรงงานหญิง และการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กและสตรี เพื่อขับเคลื่อนในระดับประเทศและสากลต่อไป

ภาพสำนักงานกุล่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม ณ วัดกู่ม่านมงคลชัย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ภาพโดย อิทธิกร ชัยศรี

วัตถุประสงค์หลักของกลุ่ม มีดังนี้

1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานทุกคนมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร และขยายการสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง

2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานทุกคน ได้มีสิทธิในการพัฒนาทักษะความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและเด็ก และสามารถดำเนินการช่วยเหลือ ปกป้องสิทธิของผู้หญิงและเด็กให้สามารถ เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

3. เพื่อเป็นศูนย์กลาง ในการเรียนรู้ และข้อมูลข่าวสาร ด้านสิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สตรี และอาชีพ รวมไปถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้ ด้านภาษา และวัฒนธรรมของชุมชนแรงงาน

นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กญธ.) ทำคือการเข้าให้ความช่วยเหลือแรงงานหญิง และแรงงานหญิงข้ามชาติ ที่ถูกเอาเปรียบจากระบบของรัฐ และนายจ้าง ลงพื้นที่แคมป์คนงาน อีกทั้งยังมีการสานต่อเจตนารมณ์ความเป็นแกนนำ พัฒนาศักยภาพของแรงงานหญิง ซึ่งเรียกได้ว่านอกจากจะช่วยเหลือในกรณีคับขันแล้ว ก็ยังมองไปข้างหน้าเพื่อความยั่งยืนของความยุติธรรมอีกต่อไปด้วย

การรวมตัวของแรงงานหญิงมีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความอยุติธรรมที่สังคมนั้นมอบให้อยู่บ่อยครั้ง การจะเลือกต่อสู้กับอำนาจที่กดทับคงไม่พ้นการรวมตัวทำอะไรสักอย่างเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาที่กำลังประสบ ประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของแรงงานสตรีมีความท้าทาย บางครั้งก็คร่าชีวิตคนไปนับร้อย และยังไม่รวมถึงการสูญเสียชีวิตในด้านอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นหลายครั้งของการรวมตัวก็ได้รับความสำเร็จในการต่อสู้ทั้งในแง่ของนามธรรม และรูปธรรม

ในท้ายที่สุดสิ่งที่เราอยากเห็นมากไปกว่าการต่อสู้เพื่อท้าทายอำนาจเหนือนั้นคือการต่อสู้เพื่อเฉลิมฉลอง และสุขสมกับความสุขมากกว่า แต่คงเป็นสิ่งเพ้อฝันในโลกของทุนนิยมและสังคมปิตาธิปไตย เพราะการเป็นแรงงาน อีกทั้งเป็นแรงงานหญิงบนโลกนี้ก็ยังคงต้องรวมตัวเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมกันต่อไป

‘เราทุกคนคือแรงงานเหมือนกันก็จริง แต่การเป็นแรงงานหญิงที่อยู่ในโลกทุนนิยม และสังคมปิตาธิปไตย บางครั้งอาจจะเจอการถูกกดทับที่เลวร้ายจนคาดไม่ถึงเลยก็ได้

ผู้เขียน : กุลปริยา โนนทัน

พิสูจน์อักษร : เกสรา คล้ายแก้ว

ภาพปก : ศรุตา ไชยวงศ์

ช่างภาพ: อิทธิกร ชัยศรี

อ้างอิง

โบรชัวร์ของกลุ่มคนงานหญิง

วันสตรีสากล 2021: แด่หญิงกล้าผู้ท้าทายโลก

100 ปีวันสตรีสากล: ทัศนะผู้หญิงในขบวนการแรงงาน-ชาวบ้าน

เช็ก 11 ข้อเรียกร้อง “วันสตรีสากล” ลาคลอด180 วัน-ขอหยุด 8 มี.ค.

วันสตรีสากล 2567 เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ แรงงานสตรี